วันพฤหัสบดีที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2556

เวลาว่าง...ของครูคณิต


สวัสดีคะ...กลับมาพบกันอีกครั้งแล้ว เป็นครั้งที่งานรุมล้อมมากๆเลย T ^ T

เป็นช่วงที่ทั้งสอบ ทั้งทำงาน ทั้งเก็บคะแนน ตัดเกรดนักเรียนอีก ยุ่งมากๆเลย

แต่ยังไงก็ต้องสู้ๆต่อไปเนอะ เพื่ออนาคต อิอิ

วันนี้ฉันจะมานำเสนอกิจกรรมสนุกๆคลายเครียดของครูคณิตกันคะ

ปกติเมื่อนึกถึงครูคณิตก็คงคิดว่าวันๆต้องมีแต่ตัวเลขลอยเต็มหัวไปหมดใช่ไหมคะ

มันก็มีส่วนจริงนะ เวลาทำงาน สอนหนังสือก็จะมีแต่ตัวเลขลอยเต็มหัวไปหมด

แต่พอถึงเวลาว่างฉันก็พร้อมที่จะทำอะไรตามใจตัวเองได้เหมือนกัน

ซึ่งก็คือการ ทำลูกชุบ นั่นเอง แหม่ๆก็เห็นคนอื่นลงวิธีการทำขนมนู่นนี่นั่นลงเว็บได้

วันนี้เราก็เลยอยากจะทำบ้าง โดยมีนักเเสดงนำที่น่ารักและผู้ช่วยจำเป็นมาร่วมด้วยช่วยกัน

มาดูคลิปกันเลยดีกว่า .....




เป็นอย่างไรกันบ้างคะ สำหรับกิจกรรมวันว่างของครู มีการชวนเด็กๆมาช่วยกันทำมาหากินด้วย ซึ่งก็ถือว่าเป็นการสานสัมพันธ์ที่ดีกับลูกศิษย์ อีกทางหนึ่งด้วยสุดท้ายแล้ว ถ้าเพื่อนๆคนไหนที่เหนื่อยๆเบื่อๆกับงานที่ทำ ก็ไปหาอะไรอย่างอื่นทำกันก่อนดีกว่านะคะ หาอะไรคลายเครียดออกจากวิถีชีวิตที่หมุนเวียนเป็นประจำทุกวัน ไปทำอะไรที่แตกต่างเราอาจจะได้ ค้นพบความชอบและความถนัดของเราโดยไม่รู้ตัวก็ได้คะ






วันอังคารที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2556

" STEM "


       วันนี้กลับมาพร้อมกับคำว่า " STEM " หลายคนคงเกิดความสงสัยว่า เอ๊ะ !!! มันใช่สเต็มเซลล์ที่เราเคยได้ยินกันไหม หรือว่าเป็นอะไรกันแน่ แล้วมันเกี่ยวกับการศึกษาไหม มาไขข้อข้องใจกันดีกว่า 

     STEM  Education คือการเรียนรู้วิชาวิทยาศาสตร์ (Science) เทคโนโลยี (Technology) วิศวกรรมศาสตร์ (Engineering) และคณิตศาสตร์ (Mathematics) ซึ่งวิชาเหล่านี้ล้วนแต่เป็นวิชาที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนได้มีความรู้ความสามารถที่จะดำรงชีวิตได้อย่างมีคุณภาพในโลกศตวรรษที่ 21 ซึ่งเป็นโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และเต็มไปด้วยเทคโนโลยี ซึ่งทั้งสี่วิชานี้มีความสำคัญเป็นอย่างมาก


     สะเต็มศึกษา เป็นการจัดการเรียนการสอนที่เน้นการบูรณาการและนำไปใช้แก้ปัญหาด้วยกระบวนการใหม่ๆ โดยมีการลงมือปฏิบัติ เน้นเชื่อมโยงการเรียนการสอนให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน เรียนรู้จากสถานการณ์ปัญหาในชีวิตจริง เน้นเรื่องความคิดสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆที่เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ สังคม

   การจัดการเรียนการสอนแบบ สะเต็มศึกษากำลังเป็นที่กล่าวถึงในวงการศึกษาของไทย เนื่องจากการศึกษาไทยในปัจจุบันเกิดปัญหาต่างๆมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการศึกษาคุณภาพต่ำเป็นอันดับที่ 8 ของประเทศในอาเซียน หรือจะเป็นปัญหาการขาดแคลนบุคลากรสายวิทยาศาตร์และเทคโนโลยี เป็นต้น

     ในฐานะที่ฉันเป็นครูฉันคิดว่าการเรียนการสอนแบบสะเต็มศึกษาเป็นการสอนที่สามารถพัฒนาศักยภาพของนักเรียนได้ดี ทำให้นักเรียนได้ฝึกคิด และปฏิบัติจริง ซึ่งแตกต่างกับการสอนปัจจุบันที่จะเน้นท่องจำไปสอบ หรือแข่งขันกันเท่านั้น แต่ไม่มีทักษะด้านการปฏิบัติ การสื่อสาร การทำงาน ซึ่งตรงส่วนนี้เป็นสิ่งสำคัญเป็นอย่างมากในการประกอบอาชีพ ไม่ว่าจะเป็นอาชีพอะไรก็แล้วแต่ล้วนแต่ต้องการคนที่มีทักษะในการปฏิบัติงาน ไม่ใช่แค่มีความรู้อย่างเดียว แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็คงต้องถามว่าประเทศไทยของเราพร้อมหรือยังกับการศึกษารูปแบบนี้ ??

** ฝากคลิปเกี่ยวกับ STEM School มาให้ดูกันคะ 





วันอังคารที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2556

อิทธิพลของสื่อต่อการสื่อสารการศึกษา



          "สื่อ" เมื่อเรานึกถึงคำๆนี้ หลายคนคงจะให้ความหมายและภาพที่แตกต่างกันออกไปตามความเข้าใจของตนเอง ทั้งสื่อจากโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ internet เป็นต้น แต่จากการที่ได้สืบค้นจาก Google ยอดนิยมของทุกคนแล้วทำให้ได้ความหมายของสื่อตามความหมายของนักเทคโนโลยีการศึกษา ซึ่งสามารถสรุปได้ว่า สื่อ (media) คือช่องทางในการติดต่อสื่อสาร นำพาข้อมูลหรือสารสนเทศจากแหล่งกำเนิดไปยังผู้รับสาร เพื่อให้เกิดผลใดๆตามวัตถุประสงค์ของการสื่อสาร

           ในปัจจุบันจะเห็นได้ว่าสื่อมีอิทธิพลต่อมนุษย์เราในหลายๆด้าน  แต่ในที่นี้จะกล่าวถึงอิทธิพลของสื่อต่อการสื่อสารการศึกษา ในอดีตการศึกษาของเราจะใช้หนังสือเป็นสื่อซะส่วนใหญ่ แต่เมื่อเวลาผ่านไป เทคโนโลยีก้าวหน้าจึงทำให้เกิดสื่อการเรียนการสอนต่างๆตามมา จากหนังสือที่ไม่สามารถจับต้องได้ กลายเป็นสื่อที่สามารถจับต้องได้ เห็นเป็นรูปธรรม และพัฒนาต่อมาเป็นสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ที่ออกมาในลักษณะของสื่อประสมหรือมัลติมีเดีย เช่น CAI ,  WBI ,  e - Learning  , E - book หรือแม้กระทั่งการเรียนการสอนทางไกล ซึ่งสื่อต่างๆเหล่านี้จะเป็นตัวที่นำความรู้ ความเข้าใจ และเนื้อหาต่างๆไปถึงนักเรียน ทำให้นักเรียนเกิดความสนใจ อยากรู้อยากเรียนในเนื้อหานั้นๆเพิ่มมากขึ้น

         


          นอกจากสื่อต่างๆที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว รายการโทรทัศน์ต่างๆก็สามารถเป็นสื่อทางการศึกษาได้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นรายการที่นำเสนอในด้านดีหรือไม่ดีก็ตาม เพียงแต่ครูหรือผู้ปกครองจะต้องให้ความดูแลอย่างใกล้ชิดและให้คำแนะนำตามความเหมาะสม
          สื่อต่างๆที่มี ไม่ว่าจะเป็นสื่อทางโทรทัศน์ สื่อมัลติมีเดีย หรือสื่อที่เป็นอุปกรณ์ต่างๆควรที่จะจัดให้นักเรียนอย่างเหมาะสมกับวัยและเนื้อหาที่นักเรียนจะได้เรียนรู้ เพื่อที่นักเรียนจะได้รับประโยชน์สูงสุดจากสื่อนั้นๆ



ข้อมูลอ้างอิง : http://uto.moph.go.th/hcc/media1.html
                 http://namwan0088.wordpress.com





วันพุธที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

เมื่อโลกเปลี่ยน ... การศึกษาจึงเปลี่ยน




จากอดีตจนถึงปัจจุบัน มีสิ่งต่างๆรอบตัวที่เปลี่ยนแปลงไปมากมาย ทั้งสภาพแวดล้อม เศรษฐกิจ สังคม การเมืองการปกครอง รวมไปถึงการศึกษาด้วยเช่นกัน สิ่งต่างๆเหล่านี้ใช้เวลาในการเปลี่ยนแปลงไม่นานนัก เนื่องจากได้รับอิทธิพลมาจากเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว 



                                      
ในอดีตเรื่องการเรียนการสอน นักเรียนจะได้เรียนกับพระหรือกับครู ครูจะทำหน้าที่สอนและถ่ายทอดความรู้ให้นักเรียนผ่านทางหนังสือเรียนเพียงอย่างเดียว หรือที่เราจะได้ยินกันว่าเป็นการสอนแบบ teacher center  ครูเป็นศูนย์กลางแห่งการเรียนรู้ นักเรียนมีหน้าที่รับความรู้จากครูโดยตรง และมีการประเมินผลการเรียนรู้ด้วยการสอบเพียงอย่างเดียว
แต่ในปัจจุบัน ศตวรรษที่ 21 นั้น ครูจะไม่ได้เป็นศูนย์กลางแห่งการเรียนรู้อีกต่อไป ครูจะต้องสอนแค่ประเด็นที่สำคัญและให้นักเรียนรับความรู้นั้นไปต่อยอดเอง ให้นักเรียนได้มีสิทธิเลือกที่จะเรียนรู้และปฏิบัติตามสิ่งที่ตนเองต้องการ เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ หรือที่เรียกว่าเป็นการสอนแบบ child center มีการประเมินผลจากทักษะ และขั้นตอนการทำงาน ไม่ใช่ผลสำเร็จของงานเพียงอย่างเดียว


การเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 สิ่งที่สำคัญและขาดไม่ได้คือเทคโนโลยี นักเรียนในยุคนี้มีความชำนาญในการใช้เทคโนโลยีเป็นอย่างมาก สามารถสืบค้นข้อมูลที่ต้องการได้อย่างรวดเร็ว หน้าที่ของครูที่จะต้องเปลี่ยนเป็นสิ่งแรกคือการก้าวให้ทันโลกและทันนักเรียน     ครูควรจะต้องเพิ่มทักษะทางด้านเทคโนโลยีของตนเองและนำทักษะนี้มาใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อการเรียนการสอนเพื่อสร้างแรงจูงใจในการเรียนการสอนของตนเองให้มากขึ้น เปลี่ยนที่สองคือเปลี่ยนเป้าหมายจากความรู้ไปสู่ทักษะ นักเรียนเป็นหลักในการเรียนรู้     ได้ฝึกทักษะ ลงมือปฏิบัติ นำเสนอ ทำงานเป็นทีมแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกัน 
เปลี่ยนสุดท้ายคือเปลี่ยนการวัดและประเมินผล ครูควรมีวิธีการวัดและประเมินผลจากทักษะการปฏิบัติ พัฒนาการ มากกว่าคะแนนสอบหรือผลงานที่สำเร็จเพียงอย่างเดียว



สุดท้าย...แม้ว่าเทคโนโลยีจะก้าวไปไกลแค่ไหน การศึกษาจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร แต่หน้าที่่ที่ไม่เคยเปลี่ยนของครูและเทคโนโลยีก็ไม่สามารถมาแทนที่ได้คือ การให้ความรัก ความเอาใจใส่ กำลังใจต่อนักเรียนทุกคนนั้นยังคงอยู่เสมอและก็คงจะไม่มีวันเปลี่ยนไปตามกาลเวลา
















วันพุธที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

เริ่มเดินทาง...

การเดินทางได้เริ่มต้นแล้วคะ เอ๊ะ เรากำลังจะเดินทางไปไหนกัน หลายคนอาจจะเกิดความสงสัย ? ไม่ใช่การเดินทางแบบการท่องเที่ยวหรอกคะ แต่เป็นการเริ่มเดินทางชิวิตของคนคนหนึ่งที่เกิดในกรุงเทพมหานคร มหานครที่แสนวุ่นวาย !!!

น.ส.อัชฌาภรณ์  ตันติดำรงกุล อ่านว่า [ อัด - ชา - พร ] เป็นชื่อที่ใครหลายคนอาจจะไม่คุ้นเคย จึงมีคนอ่านไม่ถูกต้องซะส่วนใหญ่ ร้อยละ 80 อ่านผิดตลอด จนต้องทำใจ เรียกสั้นๆง่ายๆ " กุ๊ก " เป็นเด็กที่ชอบร่วมกิจกรรมกับโรงเรียนตั้งแต่อนุบาลจนถึงชั้นประถม ขึ้นมัธยมปุ๊บกลายเป็นคนขี้อายทันทีและมันก็ส่งผลมาถึงปัจจุบันซะงั้น 


สมัยยังเป็นเด็กน้อย ^^
จบม.6 สายศิลป์ - คำนวณ โรงเรียนสตรีวัดอัปสรสวรรค์ จบม.6 ก็เข้าสู่กระบวนการสอบ ไปสอบหมดทุกวิชา !! ไม่เว้นแม้กระทั้ง ฟิสิกส์ เคมี ชีวะ ที่ไม่เคยได้เรียน สุดท้ายเลยมาลงเอยที่ มศว เอกคณิตศาสตร์ กศ.บ. เอกที่ต้องใช้จินตนาการสูงมากๆๆในการเรียน  เพราะมันเป็นนามธรรมมากๆๆๆ เรียนไปร้องไห้ไปเพราะมันยาก ไม่เห็นเหมือนตอนเรียนมัธยม 

เรียนจบแล้ว !!! เพิ่งรับปริญญาไปสดๆร้อนๆ 16 พ.ค. 56 หลังจากรอมานานแสนนาน คุ้มค่ากับการรอมาปีกว่าๆ จบมาสดๆร้อนๆไฟยังแรงอยู่เลยเริ่มต้นทำงานกันเลย !!!!

เริ่มเดินทางอีกครั้ง ... ก้าวแรกของการทำงานเริ่มจากการเป็นครูอัตราจ้างโรงเรียนมัธยม สอนผ่านไปหกเดือน  วันหนึ่งดันไปสอบได้เป็นครูสังกัดกรุงเทพมหานคร เลยได้รับราชการ ได้มาอยู่กับอีกสังคมหนึ่งที่ไม่เคยได้เจอตอนฝึกสอน สังคมของเด็กเล็กๆที่ต้องคอยดูแลเอาใจใส่ตลอดเวลา มันยากมากเลยเหอะ!!  แต่เด็กก็น่ารักดี พอจะเป็นแรงใจให้ตอนที่เหนื่อยได้บ้าง ทำให้อยากปูพื้นฐานเด็กให้ดีตั้งแต่ยังเล็กเพื่ออนาคตที่สดใสของพวกเขา ^^

ปัจจุบันเริ่มเดินทางอีกครั้งแล้ว  เรื่องการเรียนในสาขาที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา การทดสอบและวัดผลการศึกษา เพราะเห็นว่าจะเป็นประโยชน์อย่างมากในวิชาชีพ มีประโยชน์ ได้ความรู้ แต่เหนื่อยมากจริงๆ แต่ก็ต้องสู้ต่อไป พร้อมกับบอกตัวเองว่า "เดี๋ยวมันก็ผ่านไป ทำทุกวันให้ดีที่สุด"


เมื่อเราเริ่มต้นเดินทางแล้ว ก็คงจะต้องเดินต่อไปเรื่อยๆ เส้นทางข้างหน้าอาจจะสวยงามหรือขรุขระไม่มีใครรู้ได้ เราสามารถทำได้เพียงเผชิญหน้ากับมันแล้ว "ยิ้มสู้"